วันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2553

สามัคคีคือพลัง

สามัคคีคือพลัง

ความสามัคคี หมายถึง ความพร้อมเพรียงกัน ความกลมเกลียวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง วิวาทบาดหมางซึ่งกันและกัน

สามัคคีคือพลัง ความสามัคคี มีด้วยกัน 2 ประการ คือ

1. ความสามัคคีทางกาย ได้แก่ การร่วมแรงร่วมใจกันในการทำงาน

2. ความสามัคคีทางใจ ได้แก่ การร่วมประชุมปรึกษาหารือกันในเมื่อเกิดปัญหาขึ้น

ความสามัคคี ดังที่ว่ามานี้ จะเกิดมีขึ้นได้ ต้องอาศัยเหตุที่เรียกกันว่า สาราณียธรรม ธรรมเป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน กระทำซึ่งความเคารพระหว่างกัน อยู่ร่วมกันในสังคมด้วยดี มีความสุข ความสงบ ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง ทำร้ายทำลายกัน มี 6 ประการ คือ

1. เมตตากายกรรม ทำต่อกันด้วยเมตตา คือ แสดงไมตรีและความหวังดีต่อเพื่อนร่วมงาน ร่วมกิจการ ร่วมชุมชน ด้วยการช่วยเหลือธุระต่างๆ โดยเต็มใจ แสดงอาการกิริยาสุภาพ เคารพนับถือกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

2. เมตตาวจีกรรม พูดต่อกันด้วยเมตตา คือ ช่วยบอกแจ้งสิ่งที่เป็นประโยชน์ สั่งสอนหรือแนะนำตักเตือนกันด้วยความหวังดี กล่าววาจาสุภาพ แสดงความเคารพนับถือกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

3. เมตตามโนกรรม คิดต่อกันด้วยเมตตา คือ ตั้งจิตปรารถนาดี คิดทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่กัน มองกันในแง่ดี มีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสต่อกัน

4. สาธารณโภคี ได้มาแบ่งกันกินใช้ คือ แบ่งปันลาภผลที่ได้มาโดยชอบธรรม แม้เป็นของเล็กน้อย ก็แจกจ่ายให้ได้มีส่วนร่วมใช้สอยบริโภคทั่วกัน

5. สีลสามัญญตา ประพฤติให้ดีเหมือนเขา คือ มีความประพฤติสุจริต ดีงาม รักษาระเบียบวินัยของส่วนรวม ไม่ทำตนให้เป็นที่น่ารังเกียจ หรือ เสื่อมแก่หมู่คณะ

6. ทิฏฐิสามัญญตา ปรับความเห็นเข้ากันได้ คือ เคารพรับฟังความคิดเห็นกัน มีความเห็นชอบร่วมกัน ตกลงกันได้ในหลักการสำคัญ ยึดถืออุดมคติหลักแห่งความดีงาม หรือจุดหมายอันเดียวกัน

ธรรมทั้ง 6 ประการนี้ เป็นคุณค่าก่อให้เกิดความระลึกถึง ความเคารพนับถือกันและกัน เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์ยึดเหนี่ยวน้ำใจกัน เพื่อป้องกันความทะเลาะ ความวิวาทแก่งแย่งกัน เพื่อความพร้อมเพรียงร่วมมือ ผนึกกำลังกัน เพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

อานิสงส์ของความสามัคคีนี้ ท่านกล่าวไว้ว่า เป็นบ่อเกิดแห่งความสุข ความเจริญ เป็นเหตุแห่งความสำเร็จในกิจการงานต่างๆ การงานอันเกินกำลังที่คนๆ เดียวจะทำได้ เช่น การก่อสร้างบ้านเรือน ต้องอาศัยความสามัคคีเป็นที่ตั้ง แมลงปลวกสามารถสร้างจอมปลวกที่ใหญ่โตกว่าตัวหลายเท่าให้สำเร็จได้ ก็อาศัยความสามัคคีกัน ความสามัคคีคือพลัง เพราะฉะนั้น การรวมใจสามัคคีกันจึงเกิดมีพลัง ส่วนการแตกสามัคคีกันทำให้มีกำลังน้อย

โทษของการแตกสามัคคีกันนั้น ท่านกล่าวไว้ว่า หาความสุข ความเจริญไม่ได้ ไม่มีความสำเร็จด้วยประการทั้งปวง เหตุให้แตกความสามัคคีกันนี้ อาจเกิดจากเหตุเล็กๆ น้อยๆ ก็เป็นได้ เหมือนเรื่องน้ำผึ้งหยดเดียว แต่เป็นเหตุให้เกิดสงครามได้เหมือนกัน ยกตัวอย่างเรื่องของเมืองไพศาลี แคว้นวัชชี พวกเจ้าลิจฉวีมีความสามัคคีกัน พระเจ้าอชาตศัตรู ทำอะไรไม่ได้ แต่เมื่อถูกวัสสการพราหมณ์ยุยงให้แตกสามัคคีกันเท่านั้น ก็เป็นเหตุให้พระเจ้าอชาตศัตรู เข้าโจมตีและยึดเมืองเอาไว้ได้ในที่สุด

ดังนั้น ความสามัคคี ถ้าเกิดมีขึ้นในที่ใด ย่อมทำให้ที่นั้นมีแต่ความสงบสุข ความเจริญ ส่วนความแตกสามัคคี ถ้าเกิดมีขึ้นในที่ใด ย่อมทำให้ที่นั้นประสบแต่ความทุกข์ มีแต่ความเสื่อมเสียโดยประการเดียว



อ้างอิง

http://www.tumsrivichai.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538726641&Ntype=56